ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
หมายถึง
การนำผ้าผืนยาวขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ในวันสำคัญทางศาสนา
ชาวนครได้ร่วมมือร่วมใจกันบริจาคเงินตามกำลังศรัทธานำเงินที่ได้ไปซื้อผ้ามาเย็บต่อกันเป็นแถวยาวนับพันหลา
แล้วจัดเป็นขบวนแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์
ผ้าที่ขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์เรียกว่า “ผ้าพระบฎ” (หรือ พระบต) นิยมใช้สีขาว สีเหลือง สีแดง
สำหรับผ้าสีขาวนิยมเขียนภาพเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ เสด็จออกบรรพชา ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นเอกลักษณ์ประจำเมืองนครศรีธรรมราช แก่นแท้อยู่ที่การบูชาพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด
โดยใช้องค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นตัวแทนตามตำนานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุมีว่า
ในสมัยที่พระเจ้าสามพี่น้อง คือ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระเจ้าจันทรภาณุ
และพระเจ้าพงษาสุระ กำลังดำเนินการสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น
คลื่นได้ซัดผ้าแถบยาวชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีลายเขียนเรื่องราวพุทธประวัติ (เรียกว่า
พระบฎ หรือ พระบต) ขึ้นที่ชายหาดปากพนัง
จึงนำผ้าผืนนั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์จึงรับสั่งให้ซักจนสะอาด
แต่ลายเขียนพุทธประวัติก็ไม่ลบเลือนยังคงสมบูรณ์ดีทุกประการ
จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของ ได้ความว่าชาวพุทธกลุ่มหนึ่ง จะเดินทางไปลังกา
เพื่อนำพระบฎไปถวายเป็นพุทธบูชาพระทันตธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้ว
แต่เรือถูกมรสุมซัดแตกที่ชายฝั่งเมืองนครมีรอดชีวิต 10 คน ส่วนพระบฏถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งปากพนัง
พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงพิจารณาเห็นว่าควรจะนำขึ้นไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ
เจ้าของพระบฎที่รอดชีวิตก็ยินดีด้วย
จึงโปรดให้ชาวเมืองนครจัดเครื่องประโคมแห่แหนผ้าห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์
จึงเป็นประเพณีประจำเมืองนครสืบมาจนทุกวันนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น